อุทธรณ์ ฎีกา

alternative

อุทธรณ์ ฎีกา

         อุทธรณ์ ฎีกา bเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่าง กล่าวคือ การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ และการฎีกาก็คือคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ และจะเป็นอุทธรณ์หรือฎีกาตามกฎหมายก็ต่อเมื่อมีผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกายืนยันมาในอุทธรณ์หรือฎีกาว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่างไม่ถูกต้อง และขอให้มีการแก้ไข อุทธรณ์ ฎีกานี้ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้นเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องตรวจอุทธรณ์หรือฎีกาว่าควรจะรับหรือไม่ ส่วนผลจะออกมาประการใดนั้นเป็นดุลยพินิจของศาลนั้นๆ ที่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป.

คดีแพ่ง

สิทธิในการอุทธรณ์ (มาตรา 223)

        ในเรื่องอุทธรณ์มีข้อพิจารณา ดังนี้ การอุทธรณ์เป็นกรณีที่กฎหมายให้สิทธิแก่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่เห็นด้วยกับคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลล่าง ที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงพิจารณาพิพากษาใหม่ ดังนั้น จึงถือเป็นหลักได้ว่าคำพิพากษาของศาลล่างนั้นหากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นที่สุด หรือมีบทจำกัดตัดทอนสิทธิในการอุทธรณ์แล้วย่อมอุทธรณ์ได้เสมอ (ป.วิ.พ. มาตรา 223 ฎ. 324/2503).

        แต่บางกรณีแม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ไม่ได้ เช่น คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์น้อยกว่าที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอโดยศาลฎีกาเห็นว่าเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะ (ฎ. 4026/2545) หรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เรื่องขอทุเลาการบังคับถือเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะ (ฎ. 2033/2548,7927/2549,6088/2553).

การอุทธรณ์เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละคน

        ในคดีที่มีคู่ความฝ่ายเดียวกันหลายคน การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นย่อมเป็นสิทธิของคู่ความแต่ละคน จะอุทธรณ์แทนกันไม่ได้ (ฎีกาที่ 870/255).

คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง (มาตรา 224)

        สรุปหลักเกณฑ์ การพิจารณาสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีที่มีราคาทรัพย์สิน หรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง.

ข้อยกเว้น ตาม มาตรา 224 วรรคสอง ดังนี้


  • 1
    คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล
  • 2
    คดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว
  • 3
    คดีไม่มีทุนทรัพย์ (คดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้) เว้นแต่คดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่า หรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกิน 4,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด (มาตรา 244/1 เพิ่มเติมปี 2558)

         ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด (มาตรา 244/1).

        บทบัญญัติ มาตรา 244/1 เพิ่มเติมขึ้นตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 มาตรา 4 แต่ทั้งนี้คงอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 247 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ตาม มาตรา 5 พ.ร.บ.เดียวกัน ซึ่งตามมาตรา 247 บัญญัติว่า การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา.

        ข้อสังเกต ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 นี้ นอกจากบัญญัติเพิ่มมาตรา 244/1 ที่ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดแล้ว ยังได้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ทั้งหมด (มาตรา 247 ถึง มาตรา 252) และบัญญัติความขึ้นใหม่ โดยกำหนดหลักการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ขึ้นใหม่ กล่าวคือ ให้ฎีกาได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา .

        กรณีคู่ความขออนุญาตฎีกา แล้วศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ก็ไม่เป็นที่สุดตาม มาตรา 244/1 โดยคดีย่อมถึงที่สุดเมื่ออ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ถ้าศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น (มาตรา 249 วรรคสี่).

ฎีกา (ตามบทบัญญัติใหม่ มาตรา 247-252)

        การขออนุญาตฎีกา (มาตรา 247) การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา (มาตรา 247 วรรคหนึ่ง).

        สังเกตว่าคดีที่เข้าสู่ระบบอนุญาตให้ฎีกาไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นคดีมีทุนทรัพย์มากน้อยเพียงใด เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ หรือเป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ดังนี้ ไม่ว่าเป็นคดีประเภทใดก็มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาได้ แต่ศาลฎีกาจะอนุญาตให้ฎีกาได้ต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 249 เท่านั้น.

        การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาวินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว (มาตรา 247 วรรคสอง).

        ตามบทบัญญัติมาตรา 247 กำหนดให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกา ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์.

        จากบทบัญญัติมาตรา 247 ศาลฎีกาเท่านั้นมีอำนาจพิจารณาสั่งอนุญาตให้ฎีกาและรับฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเป็นการไม่ชอบ (ฎีกาที่ 2750/2561,3391/2560).

การอนุญาตให้ฎีกาไม่ใช้กับกรณีที่กฎหมายบัญญัติโดยเฉพาะให้เป็นที่สุด

        บทบัญญัติมาตรา 244/1 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติอื่นที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด เช่น มาตรา 136 มาตรา 156/1 วรรคสี่ มาตรา 199 เบญจวรรคสี่ มาตรา 230 วรรคสาม มาตรา 236 วรรคหนึ่ง มาตรา 267 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือมาตรา 288 วรรคสาม เป็นต้น เหล่านี้ มีปัญหามีว่าคู่ความจะขออนุญาตให้ฎีกาตามหลักเกณฑ์มาตรา 247 ได้หรือไม่.

        บัดนี้มีคำสั่งของศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ไม่อาจขออนุญาตฎีกาได้ตาม มาตรา 247 .

        คำสั่งของศาลฎีกาที่ ครพ.116/2561 คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 156/1 วรรคสี่ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงไม่อาจขออนุญาตฎีกาตาม มาตรา 247 .

        ข้อสังเกต จึงเป็นอันยุติว่ากรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดไว้แล้ว จะนำบทบัญญัติมาตรา 247 มาใช้บังคับไม่ได้ คู่ความจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการขออนุญาตฎีกาตามมาตรา 247 ใช้เฉพาะกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามมาตรา 244/1 เท่านั้น.

หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ฎีกา (มาตรา 249)

        ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาก็ต่อเมื่อเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย (มาตรา 249 วรรคหนึ่ง).

ปัญหาสำคัญตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงกรณีต่อไปนี้

        (1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน.

        (2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกัน.

        (3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มี.

        (4) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอื่น.

        (5) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย.

        (6) ปัญหาอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา (มาตรา 249 วรรคสอง).

การยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา
การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง

        (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง.

        (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 249 หรือในข้อกำหนดนี้ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย.

        ข้อสังเกต การขออนุญาตฎีกากระทำได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย คำร้องต้องระบุให้ชัดแจ้งว่าประสงค์จะขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และเป็นปัญหาสำคัญตามบัญญัติไว้ใน มาตรา 249 หรือตามข้อกำหนดฯ โดยอาจแสดงว่าเข้าหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อก็ได้.

หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องฯ

        ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกา โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา และต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษา หรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับคำฟ้องฎีกานั้นด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ถ้าผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกา กรณีเช่นว่านี้ให้องค์คณะผู้พิพากษามีคำสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกาโดยสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดหากมีให้แก่ผู้ร้อง .

ข้อสังเกต

        1. ผู้ร้อง (ผู้ฎีกา) ต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาซึ่งต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ตาม มาตรา 247.

        2. ผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา และต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับคำฟ้องฎีกานั้นด้วย.

        3. หากผู้ร้องไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 1 หรือ ข้อ 2 ศาลชั้นต้นต้องรีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปยังศาลฎีกาสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกา ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับคำร้องและไม่รับฎีกาไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจ.

หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องฯ

สิทธิของผู้ร้องขอเมื่อมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

        เมื่อศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามที่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอ ผู้ร้องขอมีสิทธิดำเนินการได้ 2 ประการ คือ ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่ อุทธรณ์ หรือฎีกา คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี.

        อนึ่ง ตามหลักการแล้วการอุทธรณ์ ฎีกา ต้องยื่นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่สำหรับกรณีอุทธรณ์ ฎีกาคำสั่งปล่อยชั่วคราวนี้ศาลฎีกาได้วางหลักไว้ว่าผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ฎีกาได้แม้จะเกินกำหนดเวลาหนึ่งเดือนแล้วก็ตาม ดังปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 617/2528 ว่า “การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งปล่อยชั่วคราวไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ที่กำหนดว่าการยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง”.

เมื่อศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวควรทำอย่างไรต่อไป

        ผู้ร้องขอสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้โดยถือเป็นสิทธิตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวในชั้นสอบสวน หรือไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในชั้นพิจารณาตามที่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องขอ บุคคลดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ โดยให้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความหรือสำเนาความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่.

คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของศาลอุทธรณ์

        เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว หากผู้ร้องขอเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง ผู้ร้องขอสามารถยื่นฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ได้ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ แล้วแต่กรณีมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ โดยให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความหรือสำเนาความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลฎีกา เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว.

ผู้มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา ได้แก่

        1. ผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้วแต่กรณี.

        2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง ที่ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์.

        3. ทนายความหรือบุคคลผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งระบุในหนังสือมอบอำนาจอย่างชัดเจนว่ามีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว.

        การวินิจฉัยคำร้องคัดค้านคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นพิจารณาจากอะไรในการวินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หากศาลพิจารณาแล้วมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล ศาลอาจสั่งยกคำร้องเสียก็ได้ และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว ในทางกลับกัน หากศาลที่วินิจฉัยคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไม่เห็นด้วยกับคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลอาจสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยต้องมีเหตุผลในการสั่งอนุญาตด้วยเพราะเป็นการกลับคำพิพากษาในศาลชั้นก่อน.

        ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ากระบวนการทางศาลได้วางหลักเกณฑ์การปล่อยชั่วคราวไว้อย่างละเอียด ถี่ถ้วน รอบคอบ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิร้องขอสามารถยื่นอุทธรณ์ ฎีกา คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันเองในแต่ละชั้นศาล นอกจากนี้แม้ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวไปแล้ว แต่เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่ง.

พร้อมบริการและช่วยเหลือท่าน สอบถาม 064-5695464 ทนายภัสวรินท์

โทรเลย