พินัยกรรม

alternative

พินัยกรรม

        พินัยกรรม เป็นการแสดงเจตนากำหนดการเพื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตนเองเป็นเจ้าของ ไม่อาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของผู้อื่นให้บุคคลอื่นได้ .

        แบบของพินัยกรรม เป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งในการทำพินัยกรรม ผู้ใดประสงค์จะทำพินัยกรรมต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น .

        พินัยกรรมเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวจะสมบูรณ์ต่อเมื่อเขียนเสร็จ และจะมีผลบังคับเมื่อผู้เขียนถึงแก่ความตาย .

        พินัยกรรมเป็นคำสั่งสุดท้ายที่กำหนดการเพื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน หรือในการต่างๆ โดยจะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ .

แบบของพินัยกรรม

        - พินัยกรรมแบบธรรมดา (มาตรา 1656).

        - พินัยกรรมแบบเขียนด้วยลายมือตนเอง (มาตรา 1657).

        - พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (มาตรา 1658).

        - พินัยกรรมแบบเอกสารลับ (มาตรา 1660).

        - พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา (มาตรา 1663).

พินัยกรรมแบบธรรมดา

        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 พินัยกรรมนั้น จะทำตามแบบดังนี้ก็ได้ กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น .

        การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้.

ตัวอย่าง

        กรณีผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อไม่ได้จึงลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อ ต้องมีพยานที่ลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนพยานที่ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือทั้งสองคนถือว่าเป็นพยานที่รับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมตาม มาตรา 1656 ด้วยไปในตัว (ฎีกาที่ 387-388/2488) พยานสองคนที่ลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้ทำพินัยกรรมนั้นถือว่าเป็นพยานรับรองลายมือชื่อในพินัยกรรมด้วย ไม่จำต้องมีพยานเพิ่มใหม่อีก 2 คน.

        พินัยกรรมที่ไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ไว้ แม้จะมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน ในขณะทำพินัยกรรม ก็ต้องถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทําขึ้นโดยขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1656 ย่อมตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 1705 ผู้ร้องซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ (ฎีกาที่ 3776/2545).

        ข้อสังเกตข้อสังเกต พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม มาตรา 1656 บัญญัติว่า “ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกันซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในขณะนั้น” หากพยานมาลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมในภายหลัง พินัยกรรมนั้นก็ตกเป็นโมฆะ.

        ดังนี้ ถ้าพยานคนใดคนหนึ่งไม่เห็นผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงชื่อในภายหลัง แม้กระทำต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรม หรือผู้ทำพินัยกรรมจะรับรองว่าเป็นลายมือชื่อของตนเป็นพินัยกรรมที่ไม่ถูกต้องตามแบบ ตกเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ 11084/2553,1875/2517)

        ฎีกาที่ 1978/2537 ผู้ตายไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานทั้งสองคนแม้ขณะพยานทั้งสองลงลายมือชื่อเป็นพยาน ผู้ตายและพยานทั้งสองจะอยู่พร้อมหน้ากันก็ตามก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 1705 ผู้คัดค้านในฐานะผู้รับพินัยกรรมจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิขอตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

        ฎีกาที่ 11034/2553 บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลังก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าว และทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705 ไปทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรม และได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้

ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ (มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง)
คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ในพินัยกรรมนั้นไม่ (มาตรา 1653 วรรคสอง)

        ถ้าผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรม หรือคู่สมรสของบุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมด้วย ขัดต่อ มาตรา 1653 มีผลให้เฉพาะข้อกําหนดดังกล่าวนันตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 1705.

        พยานในพินัยกรรมในที่นี้ หมายถึง พยานซึ่งต้องลงลายมือชื่อในแบบพินัยกรรม ไม่รวมถึงพยานที่รับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้ทำพินัยกรรม (ฎีกาที่ 40/2539) และไม่รวมถึงพยานที่นั่งอยู่ด้วยขณะทำพินัยกรรมโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมด้วย (ฎีกาที่ 5404/2538,1216/2540) พยานเหล่านี้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมได้ไม่ต้องห้ามตาม มาตรา 1653

        พยานในพินัยกรรมซึ่งจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1658 วรรคหนึ่ง หมายถึงพยานซึ่งต้องลงลายมือชื่อในแบบพินัยกรรมที่ทำขึ้นนั้น การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั่งอยู่ด้วยในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม แต่มิได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม หาเป็นพยานในพินัยกรรมตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ ดังนี้ พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ 5404/2533).

ผู้รับพินัยกรรมอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรม ก็ไม่มีผลให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ (ฎีกาที่ 1216/2540)

        ข้อกำหนดพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมมีผลตกเป็นโมฆะ ตาม มาตรา 1705 แต่ทายาทอาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับรองในภายหลังได้ (ฎีกาที่ 267/2498).

        ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์ให้ภริยาของผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเป็นโมฆะ แต่หาใช่เพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ ทายาทจึงทำสัญญาประนีประนอมรับรองตามพินัยกรรมนั้นได้โดยสมบูรณ์.

        แม้ข้อกำหนดให้พยานในพินัยกรรมรับทรัพย์ตามพินัยกรรม ตกเป็นโมฆะตาม มาตรา 1705 แต่ส่วนที่เกี่ยวกับการยกทรัพย์มรดกให้คนอื่นยังสมบูรณ์ บังคับกันได้ (ฎีกาที่ 336/2506,121/2527, 306/2507).

        การที่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงนามเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนั้นมีผลทำให้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ แต่สภาพแห่งการลงนามเป็นพยานนั้นยังใช้ได้สำหรับผู้อื่นซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกตามพินัยกรรมนั้นด้วย (ฎีกาที่ 336/2506).

        ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้มีข้อความและลักษณะครบถ้วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1655 และมาตรา 1671 ทุกประการ เป็นแต่ ป. ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้เขียน และพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้เท่านั้น เพราะเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 1653 และมาตรา 1705 ส่วนข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนอื่นยังสมบูรณ์อยู่ ดังนั้นแม้ผู้ตายจะได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้ร้องแต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมฉบับวันที่ 12 มกราคม 2523 ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทุกคน คือผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งเจ็ด พินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง .

พร้อมบริการและช่วยเหลือท่าน สอบถาม 064-5695464 ทนายภัสวรินท์

โทรเลย